Red Army (-)

กองทัพแดง (-)

 กองทัพแดงเป็นกองกำลังที่รัฐบาลโซเวียตซึ่งมีพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* เป็นแกนนำ จัดตั้งขึ้นหลังยึดอำนาจทางการเมืองได้สำเร็จในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำรัฐบาลโซเวียตประกาศกฤษฎีกาจัดตั้งกองทัพแดงของกรรมกรและชาวนา (Workers’ and Peasants’ Red Army) ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม (๑๕ มกราคมตามปฏิทินเก่า) ค.ศ. ๑๙๑๘ เพื่อสร้างกองทัพแดงที่ประกอบด้วยทหารอาชีพโดยยึดเกณฑ์จิตสำนึกทางชนชั้น และการอาสาสมัครของชนชั้นกรรมกรและชาวนาเป็นหลักในการเกณฑ์ทหาร วัตถุประสงค์สำคัญของกองทัพแดงคือการปกป้องชัยชนะของการปฏิวัติเดือนตุลาคม อำนาจรัฐโซเวียต และระบอบสังคมนิยม กองทัพแดงกลายเป็นกองทัพปฏิวัติที่มีแสนยานุภาพเข้มแข็งเมื่อเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามและนาวี (People’s Commissar for War and Navy) เข้ามาควบคุมดูแลระหว่างเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๔ รัฐบาลโซเวียตเห็นว่ากองทัพแดงช่วยพิทักษ์ปกป้องลัทธิคอมมิวนิสต์จากการโจมตีของลัทธิทุนนิยมถึง ๔ ครั้ง คือ ในช่วงการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ สงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War)* สงครามโลกครังที่ ๒ (Second World War)* และสงครามเย็น (Cold War)* ส่วนประเทศมหาอำนาจตะวันตกเห็นว่ากองทัพแดงประสบความสำเร็จไม่เพียงเฉพาะการป้องกันสหภาพโซเวียตจากภัยคุกคามจากภายนอกเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างระบอบเผด็จการอันเหี้ยมโหดทั้งในสหภาพโซเวียตและในประเทศยุโรปตะวันออกที่เป็นรัฐบริวารโซเวียต (Soviet Bloc) รวมทั้งผลักดันการก่อการปฏิวัติคอมมิวนิสต์นอกประเทศซึ่งมีส่วนทำให้ระบบเศรษฐกิจโซเวียตล่มสลายด้วย

 การจัดตั้งกองทัพแดงเป็นผลสืบเนื่องจากรัฐบาลโซเวียตประกาศกฤษฎีกายุบกองทัพจักรวรรดิรัสเซีย (Imperial Russian Army) ทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ ภายหลังการยึดอำนาจทางการเมืองได้ในการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ วัตถุประสงค์สำคัญของการสลายกองทัพจักรวรรดิรัสเซียคือเพื่อทำลายล้างองค์กรทหารที่มีลักษณะเป็นจักรพรรดินิยมให้สิ้นซาก และทำลายขวัญและกำลังใจของทหารที่จงรักภักดีต่อซาร์ ทั้งป้องกันไม่ให้กลุ่มกษัตริย์นิยมโดยเฉพาะผู้นำระดับท้องถิ่นสามารถปลุกระดมและใช้กองทัพเป็นเครื่องมือต่อต้านอำนาจรัฐโซเวียตได้ กฤษฎีกาดังกล่าวทำให้ทหารจำนวนกว่า ๘ ล้านคนถูกปลดประจำการยกเว้นทหารในระดับผู้บังคับบัญชาหรือที่มีประสบการณ์สูง ยังคงให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในกองทัพสังคมนิยม (Socialist Army) ที่รัฐบาลโซเวียตจัดตั้งขึ้นในกลางเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ กองทัพสังคมนิยมประกอบด้วยกองกำลังเรดการ์ด (Red Guard) ของกรรมกรและชาวนาหน่วยต่าง ๆ ซึ่งอยู่ใต้การกำกับดูแลชองคณะกรรมาธิการปฏิวัติทหาร (Revolutionary Soldiers’ Committee) คณะกรรมาธิการปฏิวัติทหารยังรณรงค์ให้พลเมืองชายหญิงจากชนชั้นแรงงานและชาวนาที่อายุ ๑๘ ปีขึ้นไปอาสาสมัครเข้าร่วมในกองทัพสังคมนิยม โดยผู้สมัครต้องได้รับการรับรองคุณสมบัติจากบุคคลที่ปฏิบัติงานในกองทัพหรือในคณะกรรมาธิการพลเมือง หรือคณะกรรมาธิการสหภาพแรงงานและหรือพรรคคอมมิวนิสต์รวม ๒ คน ต่อมาในวันที่ ๒๘ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๘ รัฐบาลโซเวียตออกกฤษฎีกำจัดตั้ง กองทัพของกรรมกรและชาวนาหรือที่เรียกชื่อว่า “กองทัพแดง” ขึ้น การใช้คำว่า “แดง” เพราะมีนัยสำคัญถึงสีที่เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการแรงงานซึ่งชนชั้นแรงงานได้เสียสละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อโค่นล้มระบอบทุนนิยมและด้วยความเชื่อมั่นว่าทุกคนต่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน กองทัพแดงในระยะแรกมีทหารอาสาสมัครประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน

 เมื่อรัสเซียและเยอรมนีไม่สามารถหาข้อสรุปในการทำสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างกันได้ เยอรมนีจึงตัดสินใจทำสงครามกับรัสเซียต่อในกลางเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๘ รัฐบาลโซเวียตจึงเกณฑ์กองทัพสังคมนิยมที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นเคลื่อนกำลังตอบโต้การโจมตีในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ซึ่งในเวลาต่อมาถือเป็น “วันกองทัพแดง” (Red Army Day) หรือ “วันกองทัพโซเวียต’’ (Soviet Army Day) แต่กองทัพสังคมนิยมที่ยังไม่เข้มแข็งและขาดประสบการณ์ในการทำสงครามไม่สามารถขัดขวางการบุกของเยอรมนีไว้ได้กองทัพเยอรมันสามารถยึดครองเมืองดอร์พัต (Dorpat) ปสคอฟ (Pskov) เรเวล (Revel) และโบรีซอฟ (Borisov) ได้ตามลำดับ และตั้งมั่นห่างจากกรุงเปโตรกราด (Petrograd) เพียง ๒๕๐ กิโลเมตร รัฐบาลโซเวียตพยายามติดต่อกับอังกฤษและฝรั่งเศสเพื่อขอความสนับสนุนด้านกำลังคนเสบียงอาหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์แต่ล้มเหลว ขณะเดียวกันก็ดำเนินการขอเปิดเจรจาทำสนธิสัญญาสันติภาพกับเยอรมนีอีกครั้งหนึ่ง เยอรมนีจึงยื่นคำขาดให้รัสเซียเจรจาตกลงภายในเวลา ๔๘ ชั่วโมง และภายหลังการเจรจาแล้วต้องร่วมลงนามทำสนธิสัญญาสันติภาพภายในเวลา ๗๒ ชั่วโมง รัฐบาลโซเวียตซึ่งต้องการถอนตัวออกจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* โดยเร็วที่สุดจึงยอมรับเงื่อนไขการเจรจาและนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk)* กับเยอรมนีและฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘

 การถอนตัวออกจากสงครามของรัสเซียทำให้ประเทศสัมพันธมิตรตะวันตกหวาดวิตกว่าเยอรมนีจะระดมกำลังทั้งหมดบุกแนวรบด้านตะวันตกเพียงด้านเดียวและอาจมีชัยชนะ ประเทศสัมพันธมิตรจึงตัดสินใจเข้าแทรกแซงรัสเซียและสนับสนุนกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลโซเวียตหรือกองกำลังฝ่ายรัสเซียขาว (White Russia) ในภูมิภาคดอน (Don) ทางตอนใต้ของรัสเซียซึ่งมีนายพลมีฮาอิล วาซีเลียวิช อะเล็คเซเยฟ (Mikhail Vasilyevich Alekseyev)* และนายพลอันตอน เดนีกิน (Anton Denikin)* เป็นผู้บังคับบัญชา การแทรกแซงของฝ่ายสัมพันธมิตรจึงนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองรัสเซีย (ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑) ในระยะแรกของสงครามกลางเมืองกองทัพฝ่ายรัสเซียขาวมีชัยชนะและสามารถยึดครองพื้นที่ในภูมิภาคดอน ไซบีเรีย และยูรัล (Ural) ไว้ได้ทั้งรุกคืบหน้าเข้ามาถึงใจกลางของประเทศ กองทัพแดงไม่สามารถต้านการรุกได้เพราะทหารส่วนใหญ่ขาดประสบการณ์ในการรบและวินัยหย่อนยาน ทั้งเรียกร้องผลตอบแทนทางการเงินมากกว่าจะอุทิศตนเพื่ออำนาจรัฐโซเวียต เลออน ตรอตสกี ซึ่งลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ และมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามและนาวีทั้งเป็นประธานสภาทหารปฏิวัติแห่งสาธารณรัฐ (Revolutionary Military Council of the Republic) จึงเร่งปรับปรุงกองทัพแดงให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ

 ตรอตสกีวางแนวทางการปรับปรุงกองทัพแดงเป็น ๒ ขั้นตอนคือ ในขั้นแรกต้องจัดสร้างกองทัพที่มีความสามารถในการสู้รบและมีแสนยานุภาพเข้มแข็งเพื่อมีชัยชนะศัตรูทั้งภายในและภายนอกประเทศที่กำลังคุกคามและโจมตีอยู่รอบด้าน การสร้างกองทัพในระยะแรกนี่จะไม่คำนึงถึง


ความสำคัญของการสร้างอุดมการณ์ปฏิวัติในกองทัพ แต่จะดำเนินการระดมพลเพื่อจัดกำลังแบบรวมอำนาจไว้ในส่วนกลางโดยการระดมพลจากพลเมืองชายอายุระหว่าง ๑๘-๔๐ ปีเป็นทหาร และจัดฝึกอบรมเข้มทางทหารเป็นเวลา ๘ สัปดาห์ ชาวนาและกรรมกรที่ยังทำงานอยู่จะถูกเกณฑ์มาฝึกอบรมด้วย ฝ่ายฝึกอบรมกองทัพทั่วไป (Vsevobuch - Universal Military Training Administration) จะทำหน้าที่กำหนดโครงการอบรมและวางกฎและระเบียบที่เข้มงวดทั้งให้นายทหารที่มีประสบการณ์สูงจากกองทัพรัสเซียเดิมเข้าร่วมและเป็นผู้อบรม เมื่อการดำเนินงานในขั้นแรกประสบผลสำเร็จแล้ว การปรับปรุงกองทัพในขั้นที่ ๒ จะเน้นการสร้างและพัฒนากองทัพแดงให้เป็นกองทัพปฏิวัติที่ติดอาวุธทางความคิดด้วยอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ การดำเนินงานของกองทัพจะมีลักษณะเป็นกองกำลังอาสาสมัครโดยใช้หลักการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง ยกเลิกระบบการเลือกตั้งผู้บังคับบัญชาและยกเลิกขั้นยศทางทหาร นายทหารคอมมิซซาร์หรือนายทหารการเมือง (Political Commissar) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมดูแลกองทัพและองค์การพรรคในกองทัพจะมีบทบาทและอำนาจลดลง ทั้งให้ยกเลิกการใช้ “ชนชั้น” ทางสังคมเป็นเครื่องกำหนดการเกณฑ์ทหารด้วยอย่างไรก็ตาม ในช่วงสงครามกลางเมือง นายทหารคอมมิซชาร์จะมีบทบาทมากเพราะต้องควบคุมดูแลสมาชิกพรรค จัดอบรมการศึกษาทางการเมือง รักษาจริยธรรมในกองทัพและอื่น ๆ

 ในปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ รัฐบาลโซเวียตเริ่มระดมพลเพื่อฝึกอบรมทหารแดงให้มีประสิทธิภาพและให้นายทหารจากกองทัพรัสเซียเดิมเข้าร่วมในกองทัพแดงด้วยโดยมีสถานภาพเป็น “ผู้เชี่ยวชาญทางทหาร” เพื่อฝึกอบรมทหารเกณฑ์ที่เป็นกรรมกรและชาวนา ต่อมา มีการใช้ระบบการเกณฑ์ทหารและจัดแบ่งกองกำลังในกองทัพโดยแบ่งเป็นหมู่ (brigade) กรม (regiment) กองร้อย (company) และกองพัน (battalion) แทนการแบ่งเป็นกองพล (division) ตามระบบเดิม มีการยกเลิกระบบเลือกตั้งนายทหารระดับผู้บัญชาการและแต่งตั้งนายทหารคอมมิซซาร์ทำหน้าที่ ควบคุมผู้เชี่ยวชาญทางทหารโดยทหารคอมมิซซาร์ ๒ คน จะควบคุมผู้เชี่ยวชาญทางทหาร ๑ คน ในคำสั่งและรายงานทางการเมืองรวมทั้งการสั่งการกรมกองต่าง ๆ ทุกระดับในกองทัพต้องมีการลงนามร่วมกันระหว่างทหารคอมมิซซาร์กับกรรมาธิการอีก ๓ คนของสภาทหารปฏิวัติแห่งสาธารณรัฐ นอกจากนี้ ทหารคอมมิซซาร์ต้องควบคุมการปฏิบัติงานขององค์การพรรคในกองทัพและกำหนดข้อบังคับและวินัยรวมทั้งบทลงโทษที่รุนแรงในการก่อกบฏหรือก่ออาชญากรรมทางทหาร มาตรการสำคัญประการหนึ่งที่ใซ้ควบคุมนายทหารจากกองทัพรัสเซียเดิมคือการใช้ระบบตัวประกัน หากทหารคนใดทรยศหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อกองทัพ ตัวประกันซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดและญาติมิตรของทหารผู้นั้นจะถูกลงโทษหนัก ในการเน้นหลักการของความเสมอภาค เครื่องแบบทหารทุกระดับชั้นจะเหมือนกันหมดและการควบคุมดูแลจะใช้ระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจจากระดับล่างไปสู่ระดับสูงต้นแบบของผู้นำทัพที่ทหารแดงทุกคนต้องยึดเป็นแบบคือ “สปาร์ตาคัส” (Spartacus) นักสู้กับสัตว์ร้ายที่นำพวกทาสก่อกบฏต่อสาธารณรัฐโรมันเมื่อ ๗๓-๗๑ ปีก่อนคริสต์ศักราชวีรชนแห่งคอมมูนปารีส (Paris Commune)* และชอง ปอล มารา (Jean Paul Marat) นักการเมืองหัวรุนแรง ชาวฝรั่งเศสตลอดจนนักต่อสู้ปฏิวัติคนอื่น ๆ

 การปรับปรุงกองทัพแดงตามแนวทางของตรอสกี ประสบความสำเร็จอย่างมากในเวลาอันรวดเร็ว ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๑๘ ทหารแดงมีจำนวนประมาณ ๔๕๐,๐๐๐ คนแต่ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๙ ก็เพิ่มจำนวนเป็นเกือบ ๓ ล้านคน และในปีต่อมาเป็น ๕.๕ ล้านคน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นทหารที่สู้รบในแนวหน้าเพียง ๗๗๘,๐๐๐ คนเท่านั้น ร้อยละ ๗๐ ของทหารแดงมาจากชนชั้นชาวนาและมีเพียงร้อยละ ๒๕ เท่านั้นที่เป็นชนชั้นแรงงาน ส่วนที่เหลือเป็นชนชั้นปัญญาชนและอภิสิทธิ์ชนในสังคมเก่าซึ่งรวมทั้งพวกคูลัค (Kulak) หรือชาวนารวยที่ต้องทำงานหนักในแนวหลัง จำนวนทหารที่มีมากส่วนหนึ่งเป็นเพราะการโฆษณาชวนเชื่อที่มีประสิทธิภาพของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ทำให้ชาวนาและกรรมกรเชื่อมั่นว่าพวกเขากำลังต่อสู้ทำสงครามเพื่อความอยู่รอดและเพื่อสร้างสังคมใหม่ที่เสมอภาค นอกจากนี้ การให้สวัสดิการทางสังคมด้านต่าง ๆ นับจากเงินเบี้ยเลี้ยงและเงินบำนาญที่สูงสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลแก่ครอบครัว การยกเว้นภาษีสิทธิพิเศษในการเข้าทำงานในองค์การพรรคและอื่น ๆ ก็เป็นแรงจูงใจให้มวลชนสมัครใจเข้าร่วมในกองทัพ

 ในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตครั้งที่ ๘ เมื่อวันที่ ๑๘-๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ ที่ประชุมได้อภิปรายโต้แย้งกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงกองทัพแดงของตรอตสกี โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสำคัญคนหนึ่งของพรรคบอลเชวิคซึ่งเป็นคู่ปรับของตรอตสกีคัดด้านอย่างมากเพราะเกรงว่าตรอตสกีจะมีอำนาจมากเกินไป สตาลินอ้างว่าการให้นายทหารจากกองทัพรัสเซียเดิมร่วมในกองทัพแดง และการเน้นยุทธศาสตร์ทางทหารในการรบระยะแรกโดยไม่คำนึงถึงอุดมการณ์ปฏิวัติจะทำให้กองทัพแดงอ่อนแอและทำลายกองทัพลงในที่สุด แต่การสนับสนุนอย่างมากของเลนินก็ทำให้แผนการปรับปรุงกองทัพแดงของตรอตสกีดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น

 หลังการปรับปรุงกองทัพแดงได้เข้มแข็งแล้ว กองทัพแดงในครึ่งหลังของ ค.ศ. ๑๙๑๙ เป็นต้นมาก็เริ่มเป็นฝ่ายรุกในแนวรบต่าง ๆ และสามารถต้านการรุกหนักของกองกำลังฝ่ายรัสเซียขาวที่มีพลเรือเอก อะเล็กซานเดอร์ คอลชาค (Alexander Kolchak)* เป็นผู้บังคับบัญชาในบริเวณภูมิภาคแม่นํ้าวอลกา (Volga) ไว้ได้ ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๙ กองทัพของคอลชาคก็ถูกตีแตกยับเยิน ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๐ กองทัพแดงสามารถปลดปล่อยยูเครน (Ukraine) และคอเคซัสเหนือจากการยึดครองของฝ่ายรัสเซียขาวได้ชัยชนะของกองทัพแดงส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับการหนุนช่วยจากเนสเตอร์ มัคโน (Nestor Makhno)* นักชาตินิยมชาวยูเครนที่เป็นผู้นำชาวนาซึ่งซุ่มโจมตีกองลำเลียงเสบียงของฝ่ายรัสเซียขาวและยึดชุม ทางสายสำคัญไว้ได้จนกองทัพของนายพลเดนีกินต้องถอนกำลังออกจากยูเครน นอกจากนี้ ความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรถอนกำลังออกจากรัสเซียและเลิกสนับสนุนฝ่ายรัสเซียขาว การถอนตัวดังกล่าวจึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อขวัญและกำลังใจของทหารฝ่ายรัสเซียขาวและทหารจำนวนมากเริ่มหนีทัพ

 อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ เมื่อรัสเซียทำสงครามกับโปแลนด์เพื่อขยายอิทธิพลลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าไปในยุโรปกลางและผลักดันการก่อการปฏิวัติในประเทศยุโรปตะวันตก กองทัพแดงต้องแบ่งกำลังส่วนหนึ่งมาหนุนช่วยการบุกโจมตีกรุงวอร์ซอ (Warsaw) ในสงครามรัสเซีย-โปแลนด์ (Russo-Polish War)* กองกำลังฝ่ายรัสเซียขาวในไครเมียซึ่งมีนายพลปิออตร์ นีโคลาเยวิช รันเกล (Pyotr Nikolayevich Wrangel)* เป็นผู้บังคับบัญชาจึงพยายามติดต่อนายพลยูเซฟ ปีลซุดสกี (Józef Pilsudski)* ผู้นำโปแลนด์ให้ช่วยเหลือแต่ประสบความล้มเหลว รันเกลซึ่งต่อมาได้รับการสนับสนุนด้านการเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์จากฝรั่งเศสจึงระดมกำลังบุกโจมตีกองทัพแดงจนมีชัยชนะ รัฐบาลโซเวียตซึ่งเพลี่ยงพลํ้าในการรบกับโปแลนด์ต้องการเผด็จศึกฝ่ายรันเกลโดยเร็วจึงเปิดเจรจายุติการรบกับโปแลนด์และนำไปสู่การเจรจาตกลงในสนธิสัญญารีกา (Treaty of Riga)* เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ จากนั้นกองทัพแดงก็ระดมกำลังทั้งหมดเข้าบดขยี้กองทัพแรงเกลในไครเมียจนมีชัยชนะสงครามกลางเมืองรัสเซียในส่วนที่เป็นพื้นที่ยุโรปรัสเซียจึงยุติลงด้วยชัยชนะของฝ่ายปฏิวัติโซเวียต แต่ในพื้นที่ส่วนเอเชียกลางและไซบีเรียสงครามยังคงดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่งจนถึงปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑

 ก่อนหน้าการลงนามในสนธิสัญญารีการะหว่างสหภาพโซเวียตกับโปแลนด์ไม่นานนัก กองทัพแดงมีบทบาทสำคัญในการปราบปรามการลุกฮือของทหารและกะลาสีเรือประจำฐานทัพเรือครอนชตัดท์ (Kronstadt) กบฏครอนชตัดท์ (Kronstadt Revolt)* เป็นการต่อต้านนโยบายระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม (War Communism)* ของรัฐบาลโซเวียตและการเรียกร้องให้ปฏิรูปทางการเมืองรัฐบาลโซเวียตกล่าวหาว่าการก่อกบฏเป็นแผนก่อการร้ายของฝ่ายรัสเซียขาวซึ่งได้รับความสนับสนุนจากองค์การชาวรัสเซียลี้ภัยนอกประเทศรวมทั้งพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party)* และพรรคเมนเชวิค (Menshevik)* ในระยะแรกรัฐบาลโซเวียตส่งมีฮาอิล คาลีนิน (Mikhail Kalinin)* ประธานคณะกรรมการบริหารกลางแห่งสหภาพโซเวียตมาเจรจาให้ฝ่ายกบฏยุติการเคลื่อนไหวและให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของรัฐบาลแต่การเจรจาล้มเหลวรัฐบาลโซเวียตจึงส่งกองทัพแดงบุกโจมตีฝ่ายกบฏเป็นเวลาเกือบ ๑ สัปดาห์จนมีชัยชนะ ปฏิบัติการดังกล่าวของกองทัพแดงมีส่วนทำลายชื่อเสียงทั้งของกองทัพแดงและรัฐบาลโซเวียตและมีส่วนทำให้นานาประเทศประวิงเวลาในการยอมรับรองสถานภาพของสหภาพโซเวียตในประชาคมโลกไปอีกระยะหนึ่ง ผลกระทบสำคัญประการหนึ่งของกบฏครอนชตัดท์คือมีการยกเลิกระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามและประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy)* แทน

 ความพ่ายแพ้ของกองทัพแดงในสงครามรัสเซียโปแลนด์ทำให้สหภาพโซเวียตตระหนักถึงข้อบกพร่องและความล้าหลังของกองทัพแดง และเมื่อเปรียบเทียบกับกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว กองทัพแดงมีความเข้มแข็งเทียบเท่ากองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรเท่านั้น สหภาพโซเวียตซึ่งต้องการปรับปรุงกองทัพแดงให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพจึงคาดหวังว่าเยอรมนีจะให้ความช่วยเหลือทางทหารความคาดหวังดังกล่าวสอดคล้องกับความต้องการของเยอรมนีซึ่งมีวัตถุประสงค์จะละเมิดข้อตกลงของสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ด้วยการสร้างสมกำลังอาวุธและปรับปรุงกองทัพ นายพลฮันส์ ฟอน เซคท์ (Hans von Seeckt)* จึงพยายามผลักดันรัฐบาลเยอรมันและวัลเทอร์ ราเทเนา (Walter Rathenau)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้หาทางทำให้ความตกลงทางทหารระหว่างทั้ง ๒ ประเทศบรรลุวัตถุประสงค์ ทั้ง ๒ ประเทศซึ่งติดต่อกันอย่างไม่เป็นทางการทางการค้าในกลาง ค.ศ. ๑๙๒๑ ก็เริ่มเจรจาเพื่อร่วมมือกันอย่างลับ ๆ ทางทหารต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๒ เมื่อสหภาพโซเวียตสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับเยอรมนีในสนธิสัญญาราปัลโล (Treaty of Rapallo)* ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่าง ๒ ประเทศก็พัฒนาอย่างรวดเร็วและนำไปสู่ความตกลงลับทางทหารร่วมกันเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๒

 ความตกลงลับทางทหารระหว่าง ๒ ประเทศทำให้เยอรมนีสามารถสร้างโรงงานผลิตอาวุธในดินแดนสหภาพโซเวียตและใช้ฐานทัพของโซเวียตในการฝึกซ้อมและทดลองอาวุธ เยอรมนีได้ช่วยฝึกอบรมให้ทหารแดงและจำหน่ายอาวุธที่ผลิตขึ้นในราคาพิเศษรวมทั้งช่วยปรับปรุงกองทัพแดงให้ทันสมัย ผู้แทนทางทหารของทั้ง ๒ ฝ่ายยังตกลงในการจะปฏิบัติการทำงทหารร่วมกันในกรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำสงครามกับโปแลนด์และประเทศในกลุ่มสัมพันธมิตร ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๓ กองทัพบกเยอรมันก็ตั้งหน่วยประสานงานกองทัพขึ้นในกรุงมอสโกและบริษัทผลิตอาวุธสำคัญของเยอรมนีหลายบริษัท เช่น บริษัทครุพพ์ (Kruppe) เดมเลอร์ (Daimler) ไรน์เมทัล (Rhinemetal) เริ่มเข้ามาตั้งโรงงานผลิตอาวุธในสหภาพโซเวียต ความร่วมมือทางทหารดังกล่าวไม่เพียงช่วยให้เยอรมนีสามารถฟื้นตัวทางทหารได้อย่างรวดเร็วและเข้มแข็งเท่านั้น แต่ยังมีส่วนทำให้กองทัพแดงแข็งแกร่งด้านกำลังทัพและมีความเพียบพร้อมด้านอาวุธยุทโธปกรณ์อีกด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ เมื่อสหภาพโซเวียตเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Year Plan)* เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหนักและวางรากฐานเศรษฐกิจสังคมนิยม มีการเน้นพัฒนา


อุตสาหกรรมทางทหาร เช่น อุตสาหกรรมสร้างเครื่องบินและรถลังเพื่อสร้างกองทัพให้ทันสมัยด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ มีการจัดตั้งหน่วยงานการป้องกันแห่งสหภาพโซเวียต (State Defense of the USSR) ขึ้นเพื่อกำหนดจำนวนทหารประจำการที่จะใช้ป้องกันประเทศ และการเพิ่มศักยภาพในการผลิตรถถัง เครื่องบิน ปืนใหญ่ และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยให้พอเพียง การดำเนินงานดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมาก ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ กองกำลังรถถังของสหภาพโซเวียตมีจำนวนเท่ากับกำลังรถถังของฝรั่งเศสซึ่งในเวลานั้นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีกำลังทหารเข้มแข็งมากที่สุดในยุโรปทหารแดงที่ประจำการในกองทัพแดงเพิ่มจาก ๘๘๕,๐๐๐ คน ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ เป็น ๑,๕๑๓,๔๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๑๘ และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๓๖ กำลังทางอากาศเพิ่มเป็น ๓ เท่า อำนาจในการป้องกันประเทศของสหภาพโซเวียตจึงแข็งแกร่งมากขึ้น

 อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารเซียร์เกย์ มีโรโนวิช คีรอฟ (Sergey Mironovich Kirov)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตเลบินกราดในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๔ อย่างมีเงื่อนงำ รัฐบาลโซเวียตดำเนินการทุกวิถีทางในการกวาดล้างกลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการตายของคีรอฟและนำไปสู่การกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purges)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๘ สตาลินผู้นำโซเวียตได้ใช้เหตุการณ์ลอบสังหารคีรอฟกำจัดศัตรูทางการเมืองทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารและเข้าควบคุมกองทัพแดงอย่างเด็ดขาด เขาสั่งให้นายทหารทุกคนเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อจะสามารถควบคุมได้ง่าย หากปฏิเสธก็ให้ลาออกและเหล่านายทหารที่ต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามผู้นำจะถูกกำจัด ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ จอมพล มีฮาอิล ตูฮาเชฟสกี (Mikhail Tukhachevsky)* รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสงครามและนายพลอีก ๗ คนถูกจับด้วยข้อหาเปิดเผยความลับทางทหารแก่เยอรมนีและญี่ปุ่น ทั้งหมดถูกยิงเป้าทันที นายทหารระดับสูงอีกหลายคนซึ่งรวมทั้งจอมพล คอนสตันติน โรคอสซอฟสกี (Konstantin Rokossovsky)* ก็ถูกจับกุมด้วยข้อหาทรยศต่อพรรคและผู้นำ และถูกบีบบังคับให้ยอมสารภาพผิดการกวาดล้างครั้งนี้ยังนำไปสู่การกำจัดนายทหารในกองทัพอีกจำนวนมากและประมาณว่ามีทหารกว่า ๓๗,๐๐๐ คนถูกกวาดล้าง ผลกระทบที่สำคัญคือในเวลาต่อมากองทัพแดงขาดแม่ทัพและผู้บัญชาการที่มีความสามารถ ทำให้สหภาพโซเวียตในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต้องตกเป็นฝ่ายสูญเสียและพ่ายแพ้ในการรบในระยะแรกของสงคราม

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนีบุกโจมตีโปแลนด์ซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหภาพโซเวียตซึ่งลงนามเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีในกติกาสัญญานาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Pact)* ค.ศ. ๑๙๓๙ ก็เห็นเป็นโอกาสเข้ารุกรานโปแลนด์ทางตะวันออกตามข้อตกลงลับในกติกาสัญญาฉบับนี้และยังเรียกร้องให้รัฐบอลติก (Baltic States)* ทั้ง ๓ ประเทศ รวมทั้งฟินแลนด์ยอมให้สหภาพโซเวียตตั้งฐานทัพขึ้นในดินแดนดังกล่าว แต่ฟินแลนด์ปฏิเสธและนำไปสู่การเกิดสงครามฤดูหนาว (Winter War)* หรือสงครามรัสเซีย-ฟินแลนด์ (Russo-Finnish War ค.ศ. ๑๙๓๙ ๑๙๔๐)* ฟินแลนด์ต่อต้านการบุกโจมตีของสหภาพโซเวียตอย่าง เข้มแข็งและมีชัยชนะ ชัยชนะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของกองทัพแดงและการขาดแคลนแม่ทัพที่สามารถอย่างไรก็ตาม สหภาพโซเวียตได้ระดมกำลังและปรับยุทธศาสตร์การรบในการเผด็จศึกฟินแลนด์และมีชัยชนะในที่สุด

 เมื่อฮิตเลอร์ล้มเหลวในการยึดครองอังกฤษในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* ค.ศ. ๑๙๔๐ เยอรมนีจึงเปิดแนวรบด้านตะวันออกด้วยการบุกโจมตีสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ เพื่อหวังกอบกู้ชื่อเสียงของเยอรมนีจากความพ่ายแพ้ การบุกโจมตีสหภาพโซเวียตของเยอรมนีโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้าด้วยแผนรบที่เรียกว่าปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ จึงทำให้กติกาสัญญานาซี-โซเวียต ค.ศ. ๑๙๓๙ สิ้นสุดลง ในระยะแรกเยอรมนีเป็นฝ่ายได้เปรียบในการรบและมีชัยชนะอย่างต่อเนื่องทั้งรุกคืบหน้าเข้ามาในพื้นที่ตอนในของประเทศจนถึงนครเลนินกราดและนำไปสู่เหตุการณ์การปิดล้อมนครเลนินกราด (Siege of Leningrad)* รวม ๙๐๐ วัน สตาลินผู้นำสหภาพโซเวียตจึงปลุกระดมความรักชาติและนิรโทษกรรมเหล่าผู้บัญชาการกองทัพแดงที่ต้องโทษในช่วงการกวาดล้างใหญ่โดยให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพตามเดิมทั้งเร่งปรับปรุงกองทัพแดงให้เข้มแข็ง ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๒ กองทัพแดงเริ่มเป็นฝ่ายตั้งรับและสามารถต้านการบุกของเยอรมนีไว้ได้ทั้งในเวลาต่อมาก็ปลดปล่อยนครเลนินกราดจากการปิดล้อมได้สำเร็จ

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๒-๑๙๔๓ กองทัพแดงยืนหยัดต่อสู้กับการบุกของเยอรมนีอย่างทรหดบริเวณแนวรบฝั่งแม่นํ้าวอลกาและคอเคซัส (Caucasus) ทั้งสามารถเอาชนะการโหมบุกโจมตีของสหภาพโซเวียตในยุทธการที่เมืองสตาลินกราด (Battle of Stalingrad)* ได้ในกลาง ค.ศ. ๑๙๔๓ กองทัพแดงก็โจมตีกองทัพเยอรมันแตกพ่ายอย่างยับเยินในยุทธการที่เมืองคุรสค์ (Battle of Kursk ๔ กรกฎาคม - ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๓)* ในช่วงเวลาเดียวกันสหภาพโซเวียตก็เกณฑ์ทหารทั้งคนหนุ่มและคนสูงวัยเข้าร่วมในกองทัพแดงจำนวนมากซึ่งทำให้ในเวลาอันสั้นกองทัพแดงมีทหารประจำการกว่า ๑๒.๔ ล้านคน ต่อมา กองทัพแดงเริ่มเป็นฝ่ายรุกและสามารถปลดปล่อยดินแดนโซเวียตที่เยอรมนียึดครองได้ตามลำดับหลังการยกพลขึ้นบกของฝ่ายพันธมิตรเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ ซึ่งเป็นวันดี-เดย์ (D-Day)* กองทัพแดงปฏิบัติการประสานการปลดปล่อยพื้นที่ตอนในของยุโรปของกองทัพพันธมิตรด้วยการบุกโจมตีเยอรมนีในเบโลรัสเซีย (Byelorussia) จนมีชัยชนะและตามไล่ล่ากองทัพเยอรมันเข้าปลดปล่อยนอร์เวย์และยูโกสลาเวีย ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ กองทัพแดงเริ่มยึดพื้นที่โซเวียตด้านตะวันตกกลับคืนได้และรุกคืบหน้าตามแนวรบโซเวียต-เยอรมันเพื่อปลดปล่อยยุโรปตะวันออก

 ในต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ กองทัพแดงได้เคลื่อนกำลังถึงฝั่งขวาของแม่นํ้าวิสตูลา (Vistula) เพื่อเข้าปลดปล่อยกรุงวอร์ซอ หน่วยใต้ดินต่อต้านนาซีและชาวเมืองวอร์ซอซึ่งคาดหวังการบุกโจมตีของโซเวียตจึงลุกฮือขึ้นสู้ต่อต้านเยอรมนีเพื่อจะหนุนช่วยการปลดปล่อยที่จะเกิดขึ้นและนำไปสู่เหตุการณ์การลุกฮือที่วอร์ซอ (Warsaw Uprising)* รวม ๖๓ วัน แต่กองทัพแดงไม่ยอมรุกคืบหน้า และสหภาพโซเวียตปฏิเสธที่จะให้ฝ่ายพันธมิตรใช้สนามบินของตนเพื่อเดิมเชื้อเพลิงและบินทิ้งระเบิดฝ่ายเยอรมนี เยอรมนีซึ่งกำลังล่าถอยจึงล้างแค้นด้วยการเผาทำลายกรุงวอร์ซอเป็นเถ้าถ่าน และกวาดต้อนชาวโปลที่รอดชีวิตไปค่ายกักกัน (Concentration Camp)* เพื่อสังหาร ทั้งกวาดล้างหน่วยใต้ดินจนสิ้นซาก ต่อมา กองทัพแดงได้เคลื่อนกำลังเข้าปลดปล่อยโปแลนด์ซึ่งเป็นไปอย่างง่ายดาย ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ กองทัพแดงเข้าสู่กรุงเวียนนาจนถึงเส้นทางตรงเข้าสู่กรุงเบอร์ลินและนำไปสู่ยุทธการที่เบอร์ลิน (Battle of Berlin)* ในเดือนเมษายน หลังการสู้รบอย่างดุเดือดกองทหารเยอรมันในกรุงเบอร์ลินก็ยอมแพ้เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม และทหารแดงได้ชักธงชัยขึ้นเหนือตึกรัฐสภาจอมพลเรือ คาร์ล เดอนิทซ์ (Karl Doenitz)* ผู้นำเยอรมนี คนใหม่ที่ฮิตเลอร์หรือฟือเรอร์ (Führer)* แต่งตั้งให้สืบทอดอำนาจก่อนที่เขาจะกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการยิงตัวเองเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ได้ประกาศยอมแพ้สงครามเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ในวันที่ ๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ผู้แทนฝ่ายทหารของเยอรมนีก็ลงนามในสนธิสัญญายอมแพ้โดยปราศจากเงื่อนไข สงครามในยุโรปจึงสิ้นสุดลงพร้อมกันการล่มสลายของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)*

 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง สหภาพโซเวียตกลายเป็นประเทศอภิมหาอำนาจเท่าเทียมกับสหรัฐอเมริกาและขยายอิทธิพลเข้าไปในประเทศยุโรปตะวันออก สตาลินได้สรุปสาเหตุและผลของสงครามโลกต่อที่ประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๖ ว่า สงครามเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจของประเทศทุนนิยมและผลลัพธ์สำคัญของสงครามคือระบอบสังคมนิยมแข็งแกร่งและเป็นฝ่ายมีชัย กองทัพแดงเข้มแข็งและมีแสนยานุภาพ ต่อมา ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๖ มีการเปลี่ยนชื่อกองทัพแดงเป็นกองทัพโซเวียต (Soviet Army) และเรียกชื่อทหารแดงว่าทหารโซเวียตชื่อกองทัพแดงจึงยกเลิกไปโดยปริยาย ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๙๑ ซึ่งเป็นช่วงความขัดแย้งของสงครามเย็น กองทัพโซเวียตมีบทบาทสำคัญในการปกป้องเขตอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในยุโรปตะวันออกและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ทั้งในสหภาพโซเวียตและรัฐบริวารโซเวียต.



คำตั้ง
Red Army
คำเทียบ
กองทัพแดง
คำสำคัญ
- กองกำลังเรดการ์ด
- กองทัพแดง
- การกวาดล้างครั้งใหญ่
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปิดล้อมนครเลนินกราด
- คอลชาค, พลเรือเอก อะเล็กซานเดอร์
- ค่ายกักกัน
- คาลีนิน, มีฮาอิล
- เซคท์, ฮันส์ ฟอน
- เดนีกิน, อันตอน
- เดอนิทซ์, จอมพลเรือ คาร์ล
- ตรอตสกี, เลออน
- ตูฮาเชฟสกี, จอมพล มีฮาอิล
- บอลเชวิค
- ปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี
- ฝ่ายรัสเซียขาว
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคเมนเชวิค
- พรรคสังคมนิยม
- พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ
- ฟือเรอร์
- มหาอำนาจกลาง
- มัคโน, เนสเตอร์
- มารา, ชอง ปอล
- เมนเชวิค
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- ยุทธการที่เบอร์ลิน
- ยุทธการที่เมืองคุรสค์
- ยูโกสลาเวีย
- ยูเครน
- ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม
- รัฐบริวารโซเวียต
- รัฐบอลติก
- รันเกล, ปิออตร์ นีโคลาเยวิช
- ราเทเนา, วัลเทอร์
- วันดี-เดย์
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามเย็น
- สงครามรัสเซีย-โปแลนด์
- สงครามฤดูหนาว
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาราปัลโล
- สนธิสัญญารีกา
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- อะเล็คเซเยฟ, มีฮาอิล วาซีเลียวิช
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-